นายกสภา เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ครั้งที่ 4

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรม

“ ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร ” ครั้งแรกของประเทศไทย

หนึ่งในในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร

ก้าวสู่การแข่งขันด้วย Digital Economy

KAS_2906

          เมื่อวันที่  18 มิ.ย2558  รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่อง  เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ครั้งที่ 4 : เกษตรก้าวไกลด้วย Digital Economy และ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธีเปิด “ ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร ” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีบุคลากรในวงการสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน ซึ่งสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ  ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ และศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ เป็นผู้จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ เกษตรก้าวไกลด้วย Digital Economy ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ ชั้น 5 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

          การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในภาคการเกษตรให้ทันกับยุคสมัยที่ เปลี่ยนแปลง เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมบุคลากรในวงการเกษตรในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันด้วย Digital Economy ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง ไอทีกับการพัฒนาเกษตรไทยด้วย Digital Economy โดย รมต.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาการศึกษาและการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Digital Economy โดย รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รักษาราชการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเตรียมความพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดย รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาและการอภิปรายที่น่าสนใจ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Digital Agriculture การพัฒนา eCommerce เกษตร และการใช้ Mobile application เพื่อการพัฒนาการผลิต รวมทั้งเรื่องไอทีกับการพัฒนาควายไทย

          รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาในองค์รวมของศาสตร์แห่งแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิชาการด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดฐานความรู้ที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาการวิจัยและถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและทคโนโลยีสารสนเทศสู่ สังคมอย่างยาวนาน โดยมี สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ และศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและดำเนินการ

          “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในยุคที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ดังนั้น การพัฒนาความรู้ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคการผลิตหลักของประเทศจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการพัฒนากระบวนการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

          ดร. อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร เป็นคลังข้อมูลที่เก็บรักษาและรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเกษตรของประเทศ กว่า 2 แสนรายการ อาทิ ผลงานวิจัย หนังสือ ตำรา และบทความรู้ด้านการเกษตรของประเทศไทย ขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ ได้สืบค้นข้อมูลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ใช้งานสามารถสืบค้นข้อมูลทั้งในมิติของผลงาน ตามชื่อผู้แต่ง ชื่อหน่วยงาน ปีพิมพ์ คำสำคัญ ประเภทผลงาน และในมิติของการนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ผลงานที่ได้รับการบันทึกในระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร จะเผยแพร่ไปยังเครือข่ายสารสนเทศด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ และเผยแพร่ผ่านระบบ Open access ที่ search engine ต่าง ๆ สามารถเข้าถึงโดยง่าย

          ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตรดังกล่าว เป็นผลการดำเนินงานของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในนามของศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ และศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ เก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2523 ต่อมาในปี 2553 สำหนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายความร่วมมือสารสนเทศเกษตรไทย 14 หน่วยงาน ดำเนินการรวบรวมผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านการเกษตรบันทึกไว้ในคลังความ รู้ และร่วมกันผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เพื่อเผยแพร่และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรของประเทศ ทั้งยังเป็นการเก็บรักษาองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่มีการสั่งสมมายาวนานมิ ให้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย