54 ปี วันที่ระลึก “ วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี ”

54 ปี วันที่ระลึก “ วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี ”

เกษตรศาสตร์รวมพลังน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

เพาะกล้าต้นนนทรีทรงปลูกทั้ง 9 ต้นสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9

          “ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

          พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จฯทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น พร้อมกับทรงดนตรีเป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังคงดังกึกก้องในหัวใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และถือเป็นสิ่งมงคลสูงสุดที่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้น้อมเกล้าฯสืบสานพระราชปณิธานตามพระราชดำรัสจะรักษาต้นนนทรีทรงปลูก ให้มีสุขภาพแข็งแรง รักษาตนเองให้เข้มแข็ง และรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วยศาสตร์แห่งแผ่นดิน อันประกอบด้วยศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน และ ศาสตร์สากล

          วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลา 17.00 น. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง เนื่องในโอกาสครบรอบ 54 ปี วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี  โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และนิสิตปัจจุบัน จำนวนกว่า 4,000 คน ร่วมงาน  พิธีเริ่มจาก การฉายวีดิทัศน์ภาพยนตร์ส่วนพระองค์เมื่อครั้งเสด็จ ฯ มาทรงปลูก ต้นนนทรีและทรงดนตรีเป็นครั้งแรก  จากนั้น ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานในพิธีวางพวงมาลัย หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงานสุขภาพต้นนนทรี จบแล้ว ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ผู้เข้าร่วมยืนสงบนิ่งพร้อมจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จากนั้น ร้องเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ เพลงสดุดีพระเกียรติ และเพลงต้นไม้ของพ่อ โดยมีนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงดนตรีสากลเคยูแบนด์ บรรเลงเพลง ร่วมกับ วงดุริยางค์เครื่องลม เค ยู วิน ซิมโฟนี นิสิตภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          การจัดงานวันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มาทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น และพระราชทานต้นนนทรีเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณริมสระน้ำ ด้านหน้าอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา15.30 น. พร้อมกับทรงดนตรี ร่วมกับ วงดนตรี อส.วันศุกร์ เป็นการส่วนพระองค์เป็นครั้งแรก และทรงเป็นกันเองอย่างที่สุด ซึ่งมีนักดนตรีจากวง อส.วันศุกร์ อาจารย์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ร่วมบรรเลงเพลงด้วย อาทิ  อาจารย์ระพี สาคริก (นักดนตรีและโฆษก) ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล (โฆษก) และ นายอวบ เหมะรัชตะ นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อันนำมาซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี สืบต่อมาจนถึง พ.ศ. 2515 รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ยังความปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ โดยในปีนี้ได้มีพิธีมอบต้นกล้าต้นนนทรี จากการเพาะเมล็ดต้นนนทรีทรงปลูกทั้ง 9 ต้น แก่ผู้แทนนิสิต 16 คณะ หน่วยงานสำนัก สถาบัน 7 หน่วยงาน และ วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ในการธำรงและสืบสานพระราชปณิธาน พระราชดำรัส และ หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  นำศาสตร์พระราชาไปสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน ให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีและประเทศมีความเจริญมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งยังธำรงรักษาต้นนนทรีทรงปลูกให้อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดกาล

          ความหมายของต้นนนทรี (Peltophorum pterocarpum )

          ต้นไม้พระราชทานประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          “ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย  สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา  และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหน   ทุกแห่งทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย”

 

          พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์

          เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ประมาณ 3,000 คน เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์  และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในครั้งนั้น ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์” ในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่า  เพลง  K.U. Song

 

          “… เพลงของเกษตรนี้ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่าเป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่า 2 เพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่ อาจจะมีความหมายได้ว่าผลิตผลของทางเกษตรนี่รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้าหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้…”

          ตอนหนึ่งของพระราชดำรัส เมื่อวันเสาร์ที่ 17  ธันวาคม  พ.ศ.  2509

          ต่อมาภายหลัง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตรองอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คีตกวีเอกคนหนึ่งของประเทศไทย ผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตรศาสตร์ ท่านได้เล่าไว้ในเกร็ดการประพันธ์เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ว่า

          “…เพลงนี้ก็ยังไม่มีเนื้อ ท่านก็รับสั่งว่า พวกเกษตรก็มีคนแต่งได้หลายคน ก็คงจะแต่งได้ไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยอื่น หลังจากนั้นมา 8 เดือนได้  ก็มีรับสั่งถามว่า แต่งไปได้แค่ไหนแล้ว ผมก็กราบบังคมทูลว่ายังไม่ได้แต่ง  เพราะว่ามีความไม่สบายใจอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่ง คือ เมื่อตอนที่แต่งเพลงใกล้รุ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระอนุชาธิราชอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็แต่ง ใกล้รุ่ง เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง แต่พอมาถึงเพลงเกษตรศาสตร์นี้ เป็นเพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้วยประการที่สอง ก็เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยด้วย ประการที่สาม เมื่อไปดูว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัย อย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็แต่ง “ น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา…” ก็รู้สึกว่าเขาแต่งไว้ดีมาก แต่ของเรา จะแต่งให้ใกล้เคียงกับเขา เข้าไปได้ไหม เมื่อมันมีความวิตก อยู่ถึง 3 อย่างก็เลยแต่งไม่ออก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งถาม ผมก็มาแต่งเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสร็จไปภายในเวลาครึ่งคืน เพลงนี้ก็รู้สึกว่าลำบากนิดหน่อย ก็เพราะว่าเพลงขึ้น ลง มาก ช่วงเสียงห่างกัน มันจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนั้น จึงต้องหาเนื้อที่จะให้เข้ากับทำนอง อย่างเช่น  “ทุกแหล่งฟ้า หล้าอิ่มเอม” ใช้เวลาครึ่งคืน ก็ได้เพลงนี้ และก็ได้บรรจุข้อความที่ว่าเกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลกเหมือนอย่างที่เป็นคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลก…”

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าว